เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : บทความสุขภาพ
หัวข้อเรื่อง : โรคที่มากับหน้าหนาว

อังคาร ที่ 7 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2560

คะแนน vote : 375  

 หน้าหนาว หรือ ฤดูหนาว เป็นช่วงของเวลาที่อากาศจะเย็นลงจากเดิม และในบางพื้นที่อาจจะเย็นลงโดยเฉียบพลัน ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกาย ของเราต้องปรับอย่างรวดเร็ว เพื่อรับกับอุณหภูมิภายนอก จากสภาวะอากาศแบบนี้ ทำให้เกิดโรคได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กวัยกำลัง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอาการป่วย หรือสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงมาอยู่แล้ว ซึ่งคนในกลุ่มเหล่านี้ ต้องระมัดระวัง 6 โรคที่มากับหน้าหนาว คือ ไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ปอดบวม, ไข้หัด, อุจจาระร่วง และไข้สุกใส แค่ได้ยินชื่อก็น่ากลัวแล้ว เราจึงควรศึกษาเรื่องของอาการ และการรักษาไว้เพื่อเป็นการป้องกัน ก่อนที่จะเกิดกับคนใกล้ชิด หรือแม้แต่ตัวเราเอง

1. โรคไข้หวัด

โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ - TodayHealth.org | สุขภาพดี มีได้ทุกวัน

ไข้หวัดถือว่าเป็นโรค ที่สามารถเป็นได้ แทบจะทุกฤดูกาล แต่ในหน้าหนาว จะเป็นได้ง่ายและบ่อยขึ้น มากกว่าปกติถึง 2 เท่า ทำให้เราประมาทกับโรคที่ดูจะธรรมมดานี้ไม่ได้ เพราะถ้าดูแลรักษาอาการไม่ดี หรือไม่ดีขึ้น ก็อาจจะทำให้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ไปได้ง่าย ๆ สำหรับไข้หวัดนั้น เกิดจากเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคในทางเดินหายใจ เชื้อที่พบง่ายคือเชื้อ "ไรโนไวรัส" ที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดธรรมดาที่มักจะ เกิดอาการ คัดจมูก, น้ำมูกไหล, ไอจาม, คันคอ เป็นอาการนำ แล้วก็จะเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดศรีษะ และปวดเมื่อยตามตัว

วิธีการรักษา

โรคนี้สามารถรักษาได้โดยการ พักผ่อนให้มาก ๆ , ดื่มน้ำให้บ่อย, เช็ดตัวทุกชั่วโมงเมื่อมีอาการตัวร้อน และทานยารักษาตามอาการ แต่ถ้ามีไข้ขึ้นสูงติดต่อกันนาน ก็ให้รีบพาไปแพทย์ เพื่อดูอาการต่อไป

ดูแลตัวเองอย่างไร

ควรรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, หลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่มีแต่มลพิษ และหลีกเลี่ยงการไอจามใส่ผู้อื่น เพราะไข้หวัดสามารถติดได้ง่าย ทางการจามหรือไอใส่กัน ทางที่ดีเมื่อเป็นแล้ว ควรมีหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ชุมชน , และพยายามเน้นรับประทานผลไม้ ที่มีวิตามินซีสูง ๆ เพราะวิตามินซีจะช่วยในเรื่องของการระงับอาการไข้หวัดได้เป็นอย่างดี

2. โรคไข้หวัดใหญ่

162089.jpg

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่อาการจะคล้าย ๆ กับไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีอาการที่รุนแรงกว่า และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อ ของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุเป็น "อินฟลูเอ็นซาไวรัส" จะทำให้มีอาการ หนาวสั่น, ไข้ขึ้นสูง, เจ็บคอ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและศรีษะอย่างรุนแรง และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

วิธีการรักษา

การรักษาจะคล้าย ๆ กับโรคไข้หวัด เมื่อเริ่มเป็น ควรดื่มน้ำให้มาก เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย, เช็ดตัวทุกชั่วโมง และทานยารักษาตามอาการ แต่ถ้าไข้ขึ้นสูงเมื่อไหร่ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

ดูแลตัวเองอย่างไร 

สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กเล็ก, หญิงตั้งครรภ์, คนชรา, และผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรัง ให้ไปรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้ตามโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยทั่วประเทศ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น แก้วน้ำ, ผ้าเช็ดหน้า เช็ดตัว, ช้อน เป็นต้น ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม ควรใส่หน้ากากอนามัย ก่อนออกจากบ้านเมื่อเริ่มมีอาการ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือเจลแอลกฮอลล์ และใช้ทิชชู่เปียก ทำความสะอาดพื้นผิว และสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อย ๆ

3. โรคปอดบวม

ป่วยปวดบวมปีนี้สูงขึ้น 10 เดือน 1.65 แสนราย ตายเกือบ 800 ราย ยิ่ง ...

ปอดบวมคือภาวะปอดอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรีย หรือ เชื้อไวรัสที่มีมากเกินไป จนทำให้มีหนอง และสารปนเปื้อนอย่างอื่นในถุงลม สาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สามารถแพร่กระจายออกมาเวลาไอ จาม  หรือการสำลักน้ำลาย เศษอาหาร และน้ำย่อย อาการเด่น ๆ คือ ไอ, จาม, มีเสมหะมาก, แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก, คัดจมูก แล้วเริ่มมีไข้สูงเกิน 2 วัน โรคปอดบวมมักจะพบหลังจากการเป็นไข้หวัดเรื้อรัง หรือในคนที่โรคหอบหืด พบบ่อยในฤดูหนาว โดยเฉพาะกับกลุ่ม คนชรา และเด็กเล็กอายุระหว่าง 5 - 10 ขวบ หรือต่ำกว่า

วิธีรักษา

โรคนี้ค่อนข้างเรื้อรัง จึงต้องระมัดระวังในการรักษา หากไม่สบายต้องเฝ้าดูอาการ อย่างใกล้ชิด ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่ย่อยง่าย และถ้าหากมีไข้ ตัวร้อนให้เช็ดตัวเรื่อย ๆ แล้วทานยาลดไข้เพื่อรักษาอาการ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าหากไม่ดีขึ้น มีอาการ ซึมลง, ไข้สูง, ทานอาหารและน้ำไม่ได้, ไอ หายใจเร็ว, หายใจมีเสียง ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วย เพราะนั่นคืออาการ ของโรคปอดบวมเริ่มแรก 

ดูแลตัวเองอย่างไร

เมื่อรู้ว่าตัวเองเริ่มมีอาการไข้หวัด ให้รีบรักษา และพบแพทย์สม่ำเสมอ ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับเด็กเล็ก ให้รับการฉีดวัคซีนปอดบวม ที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด และหมั่นล้างมือทุกครั้ง เมื่อกลับเข้าบ้าน

4. ไข้หัด

โรคหัด (Measles) - contagion(ADJ.)

หัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า "รูบีโอราไวรัส" เป็น RNA ไวรัสที่พบได้มากในจมูก และลำคอของผู่ที่เป็น อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ก่อน แล้วจึงมีน้ำมูก มักไอแห้งตลอดเวลา ตาและจมูกจะแดง ในเด็กจะมีไข้สูงประมาณ 3 - 4 วัน แล้วจึงขึ้นผื่นแดง ๆ ที่หลังหู ลามไปยังหน้า และร่างกาย ผื่นจะค่อย ๆ โตขึ้น และมีสีเข้มขึ้น สังเกตได้ว่าก่อนหน้าที่เด็กจะเป็น จะมีตุ่มใส ๆ ขึ้นในปาก ตรงกระพุ้งแก้มและฟันกรามบน ซึ่งจะเป็นตุ่มที่เกิดเฉพาะในโรค "หัด" เท่านั้น และจะขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชม. พอผื่นออกได้ประมาณ 2 - 3 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังคือ โรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม, อุจจาระร่วง, สมองอักเสบ, และหูชั้นกลางอักเสบ

การติดต่อจะติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม รดกัน ช่วงเวลาเสี่ยงโรคนี้คือ "ฤดูหนาว" โดยเฉพาะในเดือนมกราคม จะมียอดของผู้ที่ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ในกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้คือ เด็กเล็ก และเด็กในวัยเรียน ช่วงอายุ 5 - 9 ขวบ 

วิธีการรักษา

ให้ทานยาลดไข้ รักษาตามอาการ และพาไปพบแพทย์ และไปตามนัดเสมอ เพื่อแพทย์ที่จะได้ติดตามรักษาอาการ ได้อย่างต่อเนื่อง

ดูแลตัวเองอย่างไร 

หลีกเลี่ยงแหล่งที่มีเชื้อ ผู้คนพลุกพล่าน และใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องไปฉีดวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมัน และคางทูม ซึ่งเด็กทุกคน ต้องได้รับวัคซีนนี้ อยู่แล้วเมื่ออายุ 9 -12 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 6 ขวบ หมั่นล้างมือทุกครั้งเมื่อกลับเข้าบ้าน

5. โรคอุจจาระร่วง

ประกาศ เฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง | nongkok

อุจจาระร่วงส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก "เชื้อโรต้าไวรัส" และมักพบในเด็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่พบบ่อยที่สุดคือเด็กอายุ 6- 12 เดือน เพราะเด็กในวัยนี้ กำลังเป็นวัยเรียนรู้ และชอบที่จะหยิบของทุกสิ่งเข้าปาก โดยที่เชื้อตัวนี้ จะแฝงอยู่ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก มักจะพบได้มากในช่วง เดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ อาการของโรค คือเด็กจะถ่ายเหลวเป็นน้ำ จะมีอาการไข้และอาเจียนร่วมด้วย มักมีก้นแดง โดยปกติแล้ว อาการถ่ายเหลวจะหายภายใน 3 - 7 วัน แต่ก็ยังต้องดูแลใกล้ชิด และสังเกตลักษณะ ของอุจจาระด้วยว่า มีเลือด หรือมูกเลือดปนออก มาด้วยหรือไม่ ถ้ามีปนออกมาแล้วมีอาการหวัดร่วมด้วยให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป

วิธีการรักษา

หากเด็กถ่ายมากจนเสียน้ำ ให้จิบสารละลายเกลือแร่ น้อย ๆ แต่บ่อย ๆ ไปทั้งวันเพื่อรักษาอาการขาดน้ำ สังเกตง่าย ๆ คือเด็กจะเริ่มปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย ก็ในจิบโดยทันที แต่ถ้าเด็กไม่สามารถทานเกลือแร่ได้ ก็ต้องใช้เป็นการให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดแทน และอย่างดอาหาร เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกาย ขาดสารอาหารซ้ำเข้าไปอีก เพียงแต่เปลี่ยนอาหาร ให้เน้นอาหารจำพวกแป้ง และโปรตีน ทีละน้อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้ ส่วนเด็กที่ยังดื่มนมอยู่ ก็ให้ดื่มนมได้ตามปกติ

ดูแลตัวเองอย่างไร 

ให้ความสำคัญกับสุขอนามัย ภายในบ้าน เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ให้ล้างมือทุกครั้งที่หยิบจับของสกปรก ทำความสะอาดสถานที่ ของเล่นของใช้บ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปสถานที่ที่แออัด หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือพาเด็กไปรับการหยอดวัคซีน ที่โรงพยาบาล โดยจะหยอดวัคซีนในเด็กอายุ 2 - 4 เดือน แต่ราคาของวัคซีน ตัวนี้อาจมีราคาสูง คุณพ่อ คุณแม่อาจจะต้อง พิจรณาดูตามความเหมาะสม 

6. ไข้สุกใส

สำนักระบาดวิทยา :: Bureau of Epidemiology, Thailand

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ "วาริเซลลาไวรัส" หรือ "Human herpesvirus type 3" ติดต่อได้โดยการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง หรือการสัมผัสของใช้ เช่น แก้วน้ำ, ผ้าเช็ดหน้า เช็ดตัว, ผ้าห่ม, ที่นอน หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำเข้าไป พบมากในเด็กวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป ในผู้ใหญ่จะพบได้น้อยกว่า มักจะเกิดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน สำหรับคนที่เคยเป็นแล้ว ก็จะไม่กลับมาเป็นอีก โรคสุกใสจะมาในช่วงปลายฤดูหนาว เดือนมกราคม - มีนาคม แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี อาการจะมีไข้ต่ำ ๆ , เบื่ออาหาร, ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการจะคล้าย ๆ ไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน แต่จะมีผื่น หรือตุ่มขึ้นตามมาทันที เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงก่อน แล้วก็จะกลายเป็นตุ่มน้ำใส ๆ และมีอาการคัน ต่อมาก็จะกลายเป็นหนอง ตุ่มจะขึ้นตามไรผม แล้วลุกลามไปยัง หน้า แขน ขา ลำตัว และแผ่นหลัง จะทยอยขึ้นจนหมดทั้งตัว ภายใน 4 วัน หลังจากนั้น จะแห้งและตกสะเก็ดไปเองใน 5 - 10 วัน และอาการไข้ก็จะเริ่มค่อย ๆ ดีขึ้น 

วิธีรักษาอาการ

ให้รักษาตามอาการ เมื่อมีไข้ก็ให้ทานยาลดไข้ งดการใช้ของร่วมกับผู้อื่น ให้หยุดพักจนกว่าจะหายดี และห้ามไปแคะ แกะเกา บริเวณตุ่ม เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ เป็นแผลเป็นได้ โดยส่วนมากโรคนี้ ไม่ต้องไปพบแพทย์ เพราะจะมีอาการป่วยไม่นาน ไม่มีโรคแทรกซ้อน และจะอาการหายไปเอง

ดูแลตัวเองอย่างไร

ในปัจจุบันมีวัคซันป้องกันโรคนี้แล้ว ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 1 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ในรายที่ยังไม่เคยเป็น ก็สามารถไปฉีดวัคซีนนี้ ป้องกันได้เช่นกัน โรคนี้ติดต่อได้ง่าย แค่เพียงการสัมผัส เพราะฉะนั้นต้องระวัง เมื่อเจอผู้ที่เป็นโรคนี้ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน และสัมผัสถูกตัวกัน แต่ในคนที่เป็นโรคนี้แล้ว ก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้ที่เป็นได้ตามปกติ

ria-nvosti-alexey-malgavko-917.jpg

ทั้ง 6 โรคนี้ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ดี ในช่วงฤดูหนาว เพราะติดต่อได้ง่ายแค่การไอ, จาม หรือแค่สัมผัสกัน ทางกรมควบคุมโรค จึงได้มีการออกประกาศเตือนโรคเหล่านี้ ในฤดูหนาวของทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังอย่างเช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคปอด, และโรคโลหิตจาง เนื่องจากมีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงควรที่จะดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ทำร่างกายให้อบอุ่น ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบทั้ง 5 หมู่ รักษาความสะอาด ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรก ไม่ดื่มแอลกฮอลล์ ของมึนเมาทุกชนิด ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกาย ของเราได้สดใสแข็งแรง ต้านทานโรคร้าย และโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณข้อมูลที่มีประโยชน์ จาก www.honestdocs.com

 



เข้าชม : 5751


บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      โรคที่มากับหน้าหนาว 7 / พ.ย. / 2560
      คาถา 5 ย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคพิิษสุนัขบ้า 31 / ส.ค. / 2560
      แตงโม มีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด 29 / ส.ค. / 2560